ฝีดาษลิง : WHO ประกาศให้การระบาดเป็นภาวะฉุกเฉินโลก ไทยจะรับมือฝีดาษลิงอย่างไร

Congolese scientists examining samples for the monkeypox virus

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นักวิทยาศาสตร์ของคองโกกำลังตรวจสอบตัวอย่างเชื้อไวรัสฝีดาษลิง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขของไทยเรียนประชุมด่วน 24 ก.ค. เพื่อหาทางรับมือ

ประกาศนี้ถือเป็นคำเตือนขั้นสูงสุดของ WHO ภายหลังจำนวนผู้ติดเชื้อโรคนี้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก

นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก แถลงเมื่อ 23 ก.ค. ว่า มีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 16,000 รายแล้วใน 75 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

โลกกำลังเผชิญกับอีก 2 ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข คือ การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกำจัดโปลิโอให้หมดจากโลก

แขนและขาของเด็กหญิงวัย 4 ขวบที่ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในไลบีเรีย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, อาการของฝีดาษลิงรวมถึงผื่น ซึ่งจะเริ่มที่บริเวณใบหน้าและลุกลามไปทั่วร่างกาย

นายเทดรอส กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีความเข้าใจมากนักว่าทำไมการแพร่เชื้อนี้จึงเกิดได้อย่างรวดเร็ว และเป็นวงกว้าง

"การประเมินของ WHO คือ ความเสี่ยงของโรคฝีดาษลิงต่อทั้งโลก และในทุกภูมิภาคนั้นอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นในยุโรปที่เราประเมินว่ามีความเสี่ยงสูง" เขากล่าว และเสริมว่ามีความเสี่ยงอย่างชัดเจนที่โรคนี้จะระบาดไปเป็นวงกว้างกว่านี้ในระดับนานาชาติ แต่ความเสี่ยงที่ว่าจะกระทบต่อการเดินทางระหว่างประเทศนั้นยังต่ำอยู่ในขณะนี้

เขากล่าวด้วยว่าภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขจะช่วงเร่งให้เกิดการพัฒนาวัคซีนและการออกมาตรการต่าง ๆ มาสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ โดย WHO หวังว่าชุดคำแนะนำที่กำลังจะออกมาจะช่วยให้นานาประเทศดำเนินการยุติการแพร่ของไวรัสและปกป้องคนกลุ่มเสี่ยง

"นี่คือการระบาดที่สามารถยุติได้ด้วยยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง และถูกกลุ่มเป้าหมาย" นายเทดรอส กล่าว

จับตา สธ. ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร เพื่อเตรียมหาแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร ภายหลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในวันที่ 24 ก.ค. ว่า การประชุมระหว่างกรมแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานปลัด สธ. กรมควบคุมโรค มีขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์เฝ้าระวังดังกล่าว โดยได้รายงานการติดตาม ไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรีย ที่ตอนนี้ถูกควบคุมตัวในประเทศกัมพูชาแล้ว โดยพบว่าไทม์ไลน์ที่เขาพำนักใน จ. ภูเก็ต ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ไม่พบว่ามีผู้ใดที่ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรจากเขา น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภ้ย

"ไม่ต้องตระหนกมากไปนัก เพราะความสามารถในการแพร่ติดเชื้อยังไม่เท่ากับระดับโควิด-19" นายอนุทินกล่าว

ที่มาของภาพ, FACEBOOK LIVE/กรมควบคุมโรค สธ.

คำบรรยายภาพ, "ไม่ต้องตระหนกมากไปนัก เพราะความสามารถในการแพร่ติดเชื้อยังไม่เท่ากับระดับโควิด-19" นายอนุทินกล่าว

สธ. ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคประสานงานกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีระบบพื้นฐานการเฝ้าระวังมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 มาแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ

ส่วนเรื่องความพร้อมของวัคซีน กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ยังยืนยันว่าวัคซีนโรคฝีดาษลิงยังคงเก็บเอาไว้ แม้ว่าจะเก็บเอาไว้มานานแล้วตามมาตรฐาน หากมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ก็สามารถนำมาใช้ได้

ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล กรมการแพทย์ยังยีนยันว่า โดยทั่วไป มีทั้งยาที่รักษาตามอาการ เฉพาะโรค ถ้ามีความจำเป็นสถานพยาบาลก็มีความพร้อมในการรักษา และยกระดับการเฝ้าระวังจากศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) ของกรมควบคุมโรคมาเป็น EOC ของ ปลัด สธ. ซึ่งจะทำให้การสั่งการ และเฝ้าระวัง มีการครอบคลุมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ผู้บริหาร สธ. ได้ มอบหมายให้ พ.ญ. นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และหัวหน้ากลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ เป็นตัวกลางในการให้ความเข้าใจและมาตรการต่าง ๆ กับสื่อมวลชนและสังคม เกี่ยวกับความคืบหน้าของสถานการณ์ฝีดาษลิง

"พรุ่งนี้ (25 ก.ค.) อธิบดีกรมควบคุมโรคจะจัดการประชุมคณะกรรมการวิชาการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ทั้งหลาย จะดำเนินมาตรการอย่างไร จะประกาศระดับการเฝ้าระวังโรค monkeypox อย่างไร เป็นไปตามขั้นตอนระบบสาธารณสุขของไทย" นายอนุทิน กล่าว

ต่อมาวันที่ 25 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 15/2565 เรื่องแนวทางรองรับโรคฝีดาษวานร ภายหลัง WHO ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) ยังคงให้โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

เอกสารข่าวของกรมควบคุมโรค เมื่อ 21 ก.ค. อ้างถ้อยแถลงของ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่ 18 ก.ค. พบว่า เป็นเพศชาย อายุ 27 ปี สัญชาติไนจีเรีย มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค

เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC) และต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ค. และทีมสอบสวนควบคุมโรครวบรวมข้อมูลการสอบสวนทั้งข้อมูลอาการทางคลินิก ข้อมูลระบาดวิทยา และข้อมูลห้องปฏิบัติการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในบ่าย 21 ก.ค. ผลสรุปว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษลิงที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

คำบรรยายวิดีโอ, ฝีดาษลิง : ผู้ที่หายป่วยจากฝีดาษลิงเล่าถึงอาการที่รุนแรงของโรค

กรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ตั้งแต่ 21 พ.ค. เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาเคยคัดกรองและส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคจำนวน 19 รายซึ่งผลตรวจพบว่าไม่เป็นฝีดาษวานร

ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยฝีดาษลิง ที่คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล ยังมีการตรวจคัดกรองและรายงานโรคตามนิยามผู้ป่วยสงสัยทุกราย โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งแพร่โรคได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองจากผู้ป่วย จึงขอให้ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการสงสัยโรคฝีดาษวานร เช่น ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

ผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว

WHO ระบุเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า สามสัปดาห์นับจากวันที่ 13 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันแล้วไม่ถึงพันรายในประเทศที่ฝีดาษลิงไม่ใช่โรคประจำถิ่น เทียบกับที่แถลงเมื่อ 23 ก.ค. ว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 16,000 รายแล้วใน 75 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

ในขณะนั้น พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในอังกฤษราว 300 ราย รองลงมาเป็นสเปน 156 ราย โปรตุเกส 138 ราย แคนาดา 58 ราย และเยอรมนี 57 ราย นอกไปจากภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือแล้ว ยังพบผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนเป็นเลขตัวเดียว ในอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย โมร็อกโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ดี การพบผู้ติดเชื้อแม้เพียง 1 รายในประเทศที่โรคนี้ไม่ใช่โรคประจำถิ่น ก็ถือได้ว่าเกิดการระบาดขึ้นแล้ว

WHO ระบุว่านับเป็นครั้งแรกที่พบผู้ติดเชื้อหลายรายและเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันในหลายประเทศ และตัวเลขดังกล่าวอาจต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีรายงานในบางประเทศว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ได้ติดเชื้อจากผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีกรณีที่หลุดรอดการตรวจพบก่อนหน้านี้

จนถึง 21 ก.ค. รอยเตอร์รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อนี้แล้วใน 65 ประเทศ และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกว่า 15,100 คน ในทุกทวีปหลักของโลก โดยในเอเชีย แปซิฟิก พบแล้วใน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอินเดีย

คำบรรยายวิดีโอ, ทำความเข้าใจ 'โรคฝีดาษลิง' ใน 3 นาที

WHO ระบุด้วยว่ากรณีที่พบส่วนใหญ่เป็นผู้ติดเชื้อที่พบจากการตรวจในสถานบริการเกี่ยวกับโรติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และสถานบริการทางสุขภาพอื่น ๆ และส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อยังมีอาการไม่เหมือนฝีดาษลิงทั่วไป โดยบางรายมีตุ่มหนองก่อนมีไข้ และมีแผลเกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน

สำหรับประเทศที่ฝีดาษลิงถือเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน กาบอง ไอวอรีโคสต์ กานา (พบเฉพาะในสัตว์)

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2022 พบผู้เสียชีวิต 66 คน ในแคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก ไลบีเรีย ไนจีเรีย เซียร์ราลีโอน และกาบอง

ผู้หญิงถือสัตว์ป่า

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, เนื้อสัตว์ป่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของผู้คนในบางพื้นที่ของไนจีเรีย

ไนจีเรียห้ามซื้อขาย "เนื้อสัตว์ป่า'

รัฐบาลไนจีเรียห้ามประชาชนซื้อขายเนื้อสัตว์ป่าเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม 6 รายในเดือน พ.ค.

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะติดเชื้อไวรัสดังดล่าวจากการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสนี้อยู่ แต่นี่ไม่ใช่การติดเชื้อที่พบได้ทั่วไป

สำหรับเนื้อสัตว์ป่าที่ถูกสั่งห้ามในครั้งนี้หมายถึงสัตว์ป่าใด ๆ ก็ตามที่ถูกฆ่าเพื่อการบริโภค ซึ่งรวมไปถึงละมั่ง ลิงชิมแปนซี ค้างคาวผลไม้ หนู เม่น และงู

ไนจีเรียมีตลาดเนื้อสัตว์ป่ามากมาย ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีวิธีสั่งห้ามการซื้อขายสินค้าเหล่านี้อย่างไร

อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไนจีเรียยังมีคำสั่งให้ทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยสอดส่องดูแลสัตว์ที่อาจติดเชื้อโรคฝีดาษลิงด้วย

ขณะที่เจ้าหน้าประจำสวนสัตว์ พื้นที่อนุรักษ์ และศูนย์ดูแลต่างๆ ได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังไม่ให้มีการสัมผัสโดยตรงระหว่างสัตว์และคน

โรคฝีดาษลิงนับเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่นของไนจีเรียและเป็นการติดเชื้อไวรัสแบบไม่รุนแรง การติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบอยู่ในพื้นที่ห่างไกลในแถบป่าฝนเขตร้อน

WHO ชี้ว่า นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ในปี 2017 ไนจีเรียพบการติดเชื้อบ้างประปราย โดยมักพบในทางตอนใต้ของประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา การติดเชื้อกระจายมายังบริเวณตอนกลาง ตะวันออก และตอนเหนือของประเทศ

สาเหตุของฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ

ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น

โดยมีไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก

ฝ่ามือสองข้างที่มีรอยโรคฝีดาษลิง

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, รอยโรคบนฝ่ามือของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ที่พบในคองโกเมื่อปี 1977

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น ไวรัสวัคซิเนีย (vaccinia virus), ไวรัสฝีดาษวัว (cowpox virus), ไวรัสวาริโอลา (variola virus) เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของไทยระบุว่า อาการของโรคฝีดาษลิงรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่คนติดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่มีโอกาสน้อยในการแพร่จากคนสู่คน

อาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา

เมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะมีอาการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา

อาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

ติดต่อกันอย่างไร

ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก

โรคฝีดาษลิง พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน

ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า

อนุภาคเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง

ที่มาของภาพ, Science Photo Library

คำบรรยายภาพ, อนุภาคเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิง

อันตรายแค่ไหน

ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์

ฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก

โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง10%

การระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

มีการพบเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรกในลิงที่ถูกขังไว้ และนับตั้งแต่ปี 1970 มีรายงานการระบาดเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ใน 10 ประเทศของทวีปแอฟริกา

ในปี 2003 เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการพบโรคนี้นอกแอฟริกา คนไข้หลายคนติดโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์คล้ายหนู ที่ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหลายชนิดที่มีการนำเข้ามาในสหรัฐฯ รวมแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 81 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ในปี 2017 ไนจีเรียเผชิญกับการระบาดที่มีหลักฐานบันทึกไว้ขนาดใหญ่ที่สุด ราว 40 ปี หลังจากที่ไนจีเรียพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันรายสุดท้าย การระบาดครั้งนั้นมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อราว 172 ราย และ 75% ของเหยื่อ เป็นผู้ชายอายุระหว่าง 21-40 ปี

รักษาอย่างไร

ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ

การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง

คำเตือนสำหรับคนไทยผู้เดินทางไปประเทศเสี่ยง

กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม
บีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Getty Images

หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02 5903839 หรือ 1422