SALOMON อดีต Local Brand จากประเทศฝรั่งเศส สู่แบรนด์ "แถวหน้า" ที่น่าจับตาในปี 2023

avatar writer
โดย : imnat
avatar writer31 ม.ค. 2566 avatar writer2.2 K
SALOMON อดีต Local Brand จากประเทศฝรั่งเศส สู่แบรนด์ "แถวหน้า" ที่น่าจับตาในปี 2023

 

หากใครที่ได้อ่านคอนเทนต์รวมสนีกเกอร์ "ตัวเต็ง" ประจำปี 2023 ก่อนหน้านี้ของเรากันไปแล้ว (หรือถ้ายังไม่ได้อ่าน ก็สามารถกดเข้าไปอ่านได้ที่นี่) ซึ่งเนื้อหาของคอนเทนต์นั้น เราได้รวบรวมเอาบรรดารองเท้าสนีกเกอร์ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในปี 2023 มาป้ายยาให้กับชาวสนีกเกอร์เฮดกันไปถึง 5 คู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่รองเท้าสนีกเกอร์จากแบรนด์ SALOMON แบรนด์เก่าแก่จากประเทศฝรั่งเศส 

 

และสำหรับใครที่ยังไม่คุ้นชินกับแบรนด์ SALOMON หรือเคยเห็นหน้าค่าตาผ่านไป-ผ่านมาตามหน้าฟีด Instagram กันอย่างเดียว คอนเทนต์นี้ของเราจะพาทุกคนไปบุก เทือกเขาแอลป์ ดินแดนที่ให้กำเนิด Local Brand อย่าง SALOMON ที่กลายมาเป็นแบรนด์แถวหน้า ที่น่าจับตาในปี 2023 นี้

 


 

"จากลานสกี สู่แคตวอล์ก"

การบรรจบกันของ 2 โลกขั้วตรงข้าม

 

ย้อนกลับไปในปี 1947 ณ เมือง Annecy (อานซี) เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมืองเล็ก ๆ ที่ได้รับสมญานามว่า The Pearl of the French Alps หรือแปลเป็นไทยว่า ไข่มุกแห่งเทือกเขาแอลป์ เป็นที่ตั้งของกิจการขนาดเล็กที่รับผลิตใบเลื่อยและขอบสกี ของนาย Franςois Salomon (ฟร็องชัว ซาโลมอน) โดยมีผู้ช่วยทั้งหมด 2 คน ได้แก่ ภรรยา และลูกชาย

 

Georges Salomon ภาพจาก Salomon

 

Georges Salomon (ฌอร์ฌ ซาโลมอน) ลูกชายเพียงคนเดียวของฟร็องชัว ที่ตอนนั้นอยู่ในระหว่างการค้นหาตัวเอง ก็ได้เกิดความสนใจอยากจะพัฒนาสิ่งที่พ่อของเขาทำอยู่ทุกวี่ทุกวันให้ออกมาจริงจัง อีกทั้งยังต้องสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้มากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขา ปฏิเสธความฝันของพ่อ ที่อยากจะให้เขาเป็นครู ด้วยการตัดสินใจลงเรียนภาคค่ำในสาขาวิศวกรรม ก่อนจะได้ไอเดียในการประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับการทำขอบสกีขึ้นมา แทนการที่พ่อของเขาจะต้องมา นั่งทำมือทีละชิ้น

 

จากไอเดียที่ผุดขึ้นมาในหัว ก็ได้เกิดเป็น Passion อันแรงกล้า

ที่ทำให้เขาอยากหันมาเอาจริงเอาจังกับอุปกรณ์การเล่นสกีมากขึ้น !

 

"Your guardian angel"  คือสโลแกนที่ฌอร์ฌใช้ในการโปรโมท Binding หรือตัวล็อกรองเท้าสกีแบบหัว-ท้าย ที่เขาออกแบบขึ้นมาในปี 1957 โดยจุดประสงค์ของ Binding คือการเสริมความปลอดภัยในขณะที่เล่นสกี แถมความพิเศษของ Binding ที่เขาออกแบบนี้ คือ เมื่อเกิดแรงกระแทกอย่างรุนแรง หรือเกิดการทรงตัวที่ ผิดท่า ตัว Binding จะทำการสะบัดหลุดออกจากรองเท้า เพื่อเซฟไม่ให้ข้อเท้าของเราเกิดพลิกหรือว่าหักขึ้นมา

 

หน้าตาของ Binding หรือตัวล็อกรองเท้าที่ฌอร์ฌออกแบบ ภาพจาก Salomon

 

ในช่วงแรกนั้น ตัว Binding ที่ฌอร์ฌออกแบบ ถูกนำมาวางขายเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศสกับสวีเดน แต่ทว่าภายในปีเดียว อุปกรณ์ที่เรียกว่า Binding จากยี่ห้อ SALOMON ก็ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย จนทำให้แบรนด์สามารถทะยานขึ้นสู่ อันดับ 1 ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์สกี ที่สำคัญแม่แบบที่ใช้ในการออกแบบตัว Binding ณ ตอนนั้น ยังได้ถูกนำมาใช้กันจนถึงทุกวันนี้

 

รองเท้าเดินป่ารุ่นแรกของ SALOMON ภาพจาก Salomon

 

หลังจากผลักดันตัวเองจนกลายมาเป็นที่ 1 ในฐานะแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาประเภทสกีเป็นที่เรียบร้อย ฌอร์ฌก็ได้พา SALOMON เดินหน้าต่อด้วยการ เปิดตัวรองเท้าเดินป่า ในปี 1992 ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าตัวแรกที่ แหกคอก ออกมาจากบรรดาอุปกรณ์การเล่นสกีที่เขาเคยทำ ซึ่งเจ้ารองเท้าเดินป่าคู่นี้ก็ได้ทำกระแสตอนเปิดตัวเอาไว้อย่างดี จนทาง The New York Times ถึงขั้นเขียนอวยไว้เลยว่า

 

Hiking Into the Future With a Lighter Boot.

ก้าวไปสู่อนาคต กับรองเท้าบูตที่เบากว่า

 

ความปังยังไม่สิ้นสุดแค่นั้น ในปีเดียวกัน SALOMON ยังรับหน้าที่เป็น ผู้สนับสนุนหลัก ให้กับการแข่งขันกีฬา The Albertville Olympic Games หรืองานโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งหน้าที่ของ SALOMON นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์กีฬาที่ใช้ในการแข่งขันแล้ว SALOMON ยังรับหน้าที่ในการออกแบบรองเท้าให้กับ Edgar Grospiron (เอ็ดการ์ กรอสปิรง) นักสกีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาก็ได้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกจากการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ด้วย !

 

ในปี 1997 ทาง SALOMON ได้จับอุปกรณ์กีฬาฤดูหนาว ชนิดใหม่ อย่างกีฬา Snowboard ซึ่งการแตกไลน์ใหม่ในครั้งนี้ SALOMON ก็ได้มาพร้อมกับชื่อแบรนด์ใหม่อย่าง Bonfire เพื่อที่จะได้แยกตัวออกจากกีฬาสกีแบบชัดเจน หลังจากเปิดตัว Bonfire ไปได้ไม่นาน ก็มีสินค้ารวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับการเล่นกีฬาสโนว์บอร์ดถูกปล่อยออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าบูต แผ่นสโนว์บอร์ด รวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

 


 

🔍  Did you know ?

 

ต่อให้กีฬาสโนว์บอร์ดกับสกีจะเป็นกีฬาที่นิยมเล่นในช่วงหน้าหนาวเหมือนกัน แต่ทว่ากีฬาทั้งสองชนิดนี้ มี ความแตกต่างกัน อยู่นะ  สำหรับความแตกต่างระหว่างกีฬาสโนว์บอร์ด กับสกี จะวัดกันตรงที่ "แผ่นกระดาน" ที่ใช้ในการเล่น

 

  • ถ้าเป็น กีฬาสกี ผู้เล่นจะทรงตัวอยู่บนกระดาน 2 แผ่น  คือเท้าขวา 1 แผ่น และเท้าซ้าย 1 แผ่น ซึ่งการทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดานที่แยกออกจากกันนี้ ทำให้กีฬาประเภทสกีจะมีความ "ง่ายกว่า" ทั้งในแง่ของการเล่นและการทรงตัว

  • ตัดภาพมาที่ กีฬาสโนว์บอร์ด ต่อให้จะเป็นการทรงตัวอยู่บนแผ่นกระดานเหมือนกัน แต่ทางด้านของสโนว์บอร์ดนั้น ผู้เล่นจะต้องทรงตัวอยู่บนกระดานแผ่นเดียว  การควบคุมทั้งการทรงตัวและทิศทางเลยจะ "ยากกว่า" กีฬาประเภทสกี เอาง่าย ๆ คือ ต่างกันที่จำนวนแผ่นของกระดาน จบปึ้ง !

 

ภาพเปรียบเทียบชนิดกีฬาระหว่าง "สกี และสโนว์บอร์ด"

 


 

หลังจากเปิดตัวรองเท้าเดินป่าในปี 1992  สิบปีต่อมา SALOMON ก็ได้เดินหน้าขยายไลน์อุปกรณ์กีฬาประเภท Adventure Outdoor ต่อ ด้วยการเปิดตัวรองเท้าสำหรับ Trail-Running หรือการวิ่งในลักษณะผจญภัย ซึ่งลักษณะของตัวรองเท้าที่ออกมา ต่อให้จะมีกลิ่นอายของรองเท้าวิ่งแบบจ๋า ๆ แต่มันก็มีความแตกต่างจากรองเท้าวิ่งธรรมดาอยู่ 

 

XA PRO หรือรองเท้าวิ่งเทรลรุ่นแรกของ SALOMON ถูกออกแบบมาให้ซัปพอร์ตกับการวิ่งในลักษณะผจญภัย มากกว่า การวิ่งบนพื้นราบธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นตัวดอกยางของพื้นรองเท้าที่มีลักษณะนูนออกมา แทนที่จะมีการสโลปเข้าไปเหมือนดอกยางของรองเท้าวิ่งทั่วไป การใช้ตัวผ้าที่มีคุณสมบัติในการระบายเหงื่อที่มากกว่า รวมไปถึงหลักการออกแบบตัวรองเท้า พื้นรองเท้า รวมไปถึงองศาของรองเท้าต่าง ๆ ที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์และซัปพอร์ตสำหรับการวิ่งเทรลที่แท้ทรู

 

โฉมหน้าของรองเท้ารุ่น XA PRO ภาพจาก Salomon

 

อ่านกันมาจนถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะจับสังเกตกันได้อย่างหนึ่งแล้วว่า พักหลัง ๆ มานี้ SALOMON ดูเหมือนจะถอยห่างจากอุปกรณ์กีฬาประเภทสกีออกไปเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่าใกล้จะวางมือแล้วหรือเปล่า ? แต่เรากลับไม่ได้คิดแบบนั้น  เพราะถ้าเทียบกระแสความนิยมในหมู่ของคนที่เล่นสกีแล้ว SALOMON ยังคงเป็นที่ 1 ของแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์สกี แถมยังมีการผลิตสินค้าออกมาขายให้กับหมู่ของคนที่เล่นสกีอยู่เรื่อย ๆ

 

แต่ที่เราเห็น SALOMON เริ่มมีการเปิดตัวรองเท้าสำหรับใส่ทำกิจกรรม Outdoor ออกมามากขึ้นในพักหลัง ๆ นี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ตั้งแต่ที่ Adidas ทำการขายกิจการ SALOMON ให้กับ Amer Sports ไปในปี 2005 ทางเจ้าของคนใหม่ก็ได้มีความมุ่งมั่น และอยากจะปั้นให้ SALOMON เป็นที่ 1 ของแบรนด์รองเท้าประเภท Outdoor ด้วยเช่นกัน

 

SALOMON XT-6

 

หลังจากทำการบ้านมาอย่างหนักหน่วง ไลน์รองเท้าเทรลของ SALOMON ก็ได้งอกรุ่นใหม่ออกมาในปี 2013 โดยมาในชื่อรุ่นว่า XT-6 ที่ทาง SALOMON ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า XT-6 เป็นรองเท้าสำหรับการวิ่งเทรล "ในระยะทางยาว"  ซึ่งภาพลักษณ์ของรองเท้ารุ่นนี้ก็ยังคง เอกลักษณ์เฉพาะตัว ของ SALOMON ไว้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ตัวเชือกรองเท้า แล้วไหนจะโทนสีต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับลูกเล่นประหลาดตา เป็น Signature ที่เห็นปุ๊บ ก็รู้ปั๊บว่านี่คือรองเท้าของ SALOMON

 

โดยความสำเร็จของรองเท้ารุ่นนี้ ก็ได้ทำให้ SALOMON ขึ้นแท่นเป็น มาสเตอร์ของวงการรองเท้ากีฬาประเภท Outdoor ไปในทันที แถมยังถูกพูดถึงมากกว่าอุปกรณ์กีฬาประเภทสกีไปในที่สุด

 

เราจะเห็นได้ว่าชื่อเสียงของ SALOMON ณ ตอนนั้น

แทบไม่ต่างอะไรจากน้ำหอมประเภท Niche

 

ที่ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม ยังไม่สามารถเข้าถึงคนได้ "ทั่วถึง" เหมือนอย่างเช่นปัจจุบัน แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ 2 ขั้วตรงข้ามโคจรมาบรรจบกันเข้า คำตอบนั้นอยู่นี่แล้ว...

 

ภาพบรรยากาศหน้าร้าน The Broken Arm ภาพจาก The Broken Arm

 

มีอยู่วันหนึ่งได้มีลูกค้าเดินเข้าไปถามหารองเท้าเดินป่ายี่ห้อ SALOMON ที่ร้าน The Broken Arm ร้านค้าปลีกสินค้าแฟชั่นแห่งหนึ่ง ในประเทศฝรั่งเศส วินาทีนั้นเป็นครั้งแรกที่ทาง The Broken Arm รับรู้ถึงการมีอยู่ของ SALOMON ส่วนทางด้านของ SALOMON ที่ไม่เคยคิดว่าสินค้าของตัวเองจะมีอิทธิพลในสายแฟชั่น ก็ได้ทำให้ทาง SALOMON เห็นถึงความสำคัญของแบรนด์ รวมไปถึง "ความเป็นไปได้" ของแบรนด์ในวงการอื่น ๆ มากขึ้น

 

นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ในปี 2016 ทาง SALOMON ตัดสินใจว่าจ้างพนักงานในตำแหน่ง ผู้จัดการรองเท้าไลฟ์สไตล์  เข้ามาช่วยออกแบบและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของรองเท้า SALOMON ให้ออกมาในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น โดยนำจุดแข็งเดิมอย่าง Performance และ Design มาผนวกเข้ากับโลกใบใหม่อย่าง Fashion จนกลายเป็นส่วนผสมใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมา

 

Sarah Dahl และ Josefine Lynderup สองนางแบบที่สวมรองเท้า SALOMON ระหว่างการไปเดินแฟชั่นโชว์​ ภาพจาก Vogue

 

SALOMON ได้เดบิวต์ตัวเองบนเส้นทางสายแฟชั่นในฐานะ The Best Sneaker Street Style จากงาน New York Fashion Week ประจำปี 2019 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการปูพรมให้ SALOMON สามารถเดินเข้าสู่แคตวอล์กได้แบบภาคภูมิใจ ซึ่งหลังจากนั้นทางแบรนด์ก็ได้มีโอกาสปล่อยคอลเล็กชันพิเศษที่ทำร่วมกันกับแบรนด์ดังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น The Broken Arm, And Wander, Palace, Maison Margiela ไปจนถึง COMME DES GARÇONS ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ๆ ออกไปเรื่อย ๆ

 

แต่เห็นแบบนี้ ทาง SALOMON ก็มี กฏในการคอลแลปส์ อยู่นะ โดยแบรนด์ หรือร้านค้าที่ต้องการจะร่วมงานกับ SALOMON จะต้องรับให้ได้ กับตัวตนของแบรนด์ เพราะ SALOMON จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อใคร ซึ่งนั่นถือว่าเป็นแนวคิดที่ทางแบรนด์ต้องการจะซื่อสัตย์กับตัวเองนั่นเอง

 

ต่อให้จะดูจุกจิก หรือมีความเป็นตัวของตัวเองมากแค่ไหน แต่ฐานความนิยมของ SALOMON ก็ไม่ได้ลดหลั่นลงเลย ถึงแม้ว่ากระแสการขยับขยายจากแบรนด์ Outdoor มาสู่สินค้าประเภท Lifestyle และ Luxury ในตอนนี้จะมีตัวอย่างมาให้เห็นกันเรื่อย ๆ ซึ่งบางแบรนด์ก็อาจจะขึ้นสุด แล้วลงสุดไปเลยทันที แต่ความแตกต่างของ SALOMON นี้คืออะไร ทำไมถึงสามารถซื้อใจคนได้เรื่อย ๆ นี่แทบไม่ต้องพูดถึงทุกวันนี้เลยด้วยซ้ำ ถ้าถึงขั้นเป็นแบรนด์แถวหน้าที่น่าจับตาของปี 2023 ได้ SALOMON จะต้อง "มีของดี" ที่มากกว่าภาพลักษณ์ที่ดูแตกต่างนี้อย่างแน่นอน

 

คอลเล็กชัน MM6 Maison Margiela จากเวที Milan Fashion Week SS23

การคอลแลปส์ด้วยกันครั้งที่ 2 ระหว่าง Maison Margiela และ SALOMON ภาพจาก hypebeast

 


 

ถ้ามีดีแค่สไตล์ นานไปคนอาจเบื่อ

แต่โทษที SALOMON ดัน "มีดี" มากกว่านั้น !

 

ต่อให้คนส่วนใหญ่จะมองว่า SALOMON คือแบรนด์ที่เน้นขายแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ทางแบรนด์คำนึงถึงกลับเป็น Benefit ในแง่ของการใช้งาน มากกว่าภาพลักษณ์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเราลองตัดเรื่องของภาพลักษณ์ออกไป เราจะเห็นได้ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ SALOMON โดดเด่นและพัฒนามาได้อยู่ตลอด สิ่งนั้นก็คือ นวัตกรรม และไอเดียอันชาญฉลาด ในการออกแบบตัวสินค้า ที่ได้ผ่านการทำการบ้านมาอย่างหนัก เพื่อที่จะหาทางออกให้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้าประเภทนั้นจริง ๆ

 

นับตั้งแต่แรกเริ่มเลยก็คือ อุปกรณ์การเล่นสกี  อย่างที่เรารู้กันไปแล้วกับไอเดียในการออกแบบ Binding ที่เมื่อเกิดแรงกระแทกปุ๊บ ตัว Binding จะทำการสะบัดออกจากรองเท้าของผู้เล่นทันที ซึ่งความตั้งใจในการแก้ปัญหาตรงนี้ ทำให้คนเล่นสกี สามารถมีความสุขกับกิจกรรมนั้น ๆ ได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บและเกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งยังทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ กล้าเปิดใจและเข้าถึงกีฬาประเภทสกีได้ง่ายขึ้นด้วย

 

 

รวมไปถึง รองเท้าวิ่งเทรลและเดินป่า  ที่เมื่อเทียบสัดส่วนกับรองเท้าประเภทที่ใส่ได้ในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ แล้ว โอกาสในการซื้อมาใช้งานซ้ำ ๆ นับว่ามีสัดส่วนที่น้อยมาก บางคนอาจจะซื้อมาไว้แค่คู่ - สองคู่เท่านั้นจบ แต่สิ่งที่ทำให้ฐานลูกค้าเดิมมีการวนกลับมาซื้อซ้ำอยู่เรื่อย ๆ รวมไปถึงฐานลูกค้าใหม่ที่มีความตื่นตาตื่นใจให้กับสินค้าประเภทรองเท้าวิ่งเทรลและเดินป่าจาก SALOMON ได้ตลอด ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ นวัตกรรมการออกแบบรองเท้าที่มีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง 

 

ยกตัวอย่างรองเท้า SALOMON ไลน์ Predict ที่ต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล ทำวิจัย และพัฒนา จนกลายมาเป็น รองเท้าที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บที่บริเวณหัวเข่า ขณะใส่ทำกิจกรรมไม่ว่าจะเดินป่า ปีนเขา หรือว่าวิ่งเทรล ที่หลายคนคงจะพอรู้กันดีอยู่แล้วว่า ลักษณะของกิจกรรมประเภท Outdoor Adventure ไม่ใช่แค่การเดินหรือวิ่งอยู่บนพื้นราบเฉย ๆ แต่มันเป็นกิจกรรมในลักษณะผจญภัยที่เราจะต้องเจอกับแรงกระแทก การกระโดด หรือการสไลด์ตัวอะไรต่อมิอะไรเป็นธรรมดา

 

ซึ่งรองเท้าไลน์ Predict นี้ เป็นการนำเอาปัญหาที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เจอเวลาที่สวมรองเท้าที่ไม่ตอบโจทย์กับกิจกรรมนั้น ๆ อย่างอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณเข่า อาการข้อเท้าพลิก หรืออาการปวดเมื่อยเรื้อรังทั้งหลาย มาทำการวิจัย ก่อนที่จะเกิดเป็น เทคโนโลยีในการออกแบบพื้นรองเท้าตามสรีระอย่าง Anatomical Decoupling ของ SALOMON ที่จะช่วยลดอาการปวดเข่า หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อสะสมในขณะที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ นี้ได้

 

SALOMON Predict Hike Gore-Tex ตัวอย่างรองเท้าไลน์ Predict ของ SALOMON

 

ซึ่งนี่เป็นเหมือนการ Stay in touch กับกลุ่มลูกค้าของ SALOMON อยู่เสมอ เมื่อมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ออกมา มันเลยทำให้เราตัดสินใจ ซื้อซ้ำ ได้ไม่ยาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะจุดแข็งในเรื่อง Performance นี่แหละ ที่เป็นเหมือนการเชื่อมโยงกันระหว่างรองเท้ากับคนใส่ จนกลายเป็นแรงส่งทำให้ SALOMON ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะถ้ามีดีแค่สไตล์ แต่รองเท้าสวมไม่สบาย ไม่ได้เอื้อประโยชน์อะไรกับการใช้งาน นานวันไปกระแสของมันก็หดหาย แต่เพราะจุดแข็งตรงนี้เลยทำให้ SALOMON ถูกพูดถึง และได้รับความนิยมอยู่เรื่อย ๆ แม้จะไม่หวือหวามาก แต่ทว่ามั่นคงอย่างแน่นอน !

 


 

รุ่นเดอะวัย 75 ที่ยังคงตื่นเต้นกับ "วันพรุ่งนี้" ของตัวเองเสมอ

 

แม้ว่าหน้าตาของรองเท้า SALOMON แต่ละคู่ จะคงเอกลักษณ์ไว้ที่ Pattern คล้าย ๆ เดิม แต่ปู่วัย 75 ย่าง 76 อย่าง SALOMON นี้ยังมีความตื่นเต้น และต้องการจะนำเสนออะไรที่มั่นคง และสามารถให้ประโยชน์กับผู้สวมใส่ในระยะยาวต่อไป

 

และต่อให้หลายคนอาจจะมองว่า SALOMON เป็นแบรนด์ที่ดังได้เพราะความฟลุกก็ตาม แต่ถ้ามานั่งไล่ดูกันจริง ๆ เราจะเห็นได้ว่าต่อให้จะมีการคอลแลปส์กับแบรนด์ดังต่าง ๆ ก็จริง แต่บรรดาแบรนด์ต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ไม่ได้ทำให้ SALOMON เป็นกระแสขึ้นมาได้ขนาดนั้น และต่อให้ ณ ตอนนี้ SALOMON เป็นแบรนด์ที่สามารถทำกระแสได้ดีในวงการสตรีทแฟชั่น แต่ทว่าจริง ๆ แล้ว ากฐานของ SALOMON คือแบรนด์กีฬา ที่สำคัญคือ SALOMON ไม่เคยทิ้งตัวตนเดิมที่มีรากฐานมั่นคงอยู่แล้ว มาโฟกัสกับกระแสที่มีเข้ามาแล้วก็ผ่านไป เพราะสิ่งที่จะคงอยู่ต่อไป คือตัวตนของ SALOMON ในฐานะแบรนด์กีฬาที่มีรากฐานอย่างมั่นคงมากกว่า 

 

ดังนั้นสิ่งที่ปู่วัย 75 ย่าง 76 กำลังให้ความสนใจอยู่ในตอนนี้และหลังจากนี้ ก็คือคุณภาพ และความพยายามที่จะทำให้สินค้าต่าง ๆ ของตัวเองดีขึ้นในทุกวัน สิ่งที่ SALOMON ทำ ไม่ใช่การเดินเข้าหา แต่ SALOMON พยายามพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนหันมาสนใจ และพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ว่าทำไม มันถึงควรค่าแก่การมี 

 


 

 

💭  เหตุผลที่ทำให้ SALOMON เป็นแบรนด์ที่อยู่ในความสนใจของคนตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ รวมไปถึงหลังจากนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ ผลกระทบที่มาจากโควิด ที่เป็นธรรมดาหลังจากเราเป็นอิสระจากมันแล้ว การออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ก็เป็นอีกหนึ่งความ โหยหา  ที่หลายคนรอคอยเวลานี้กันมานาน

 

ซึ่งในอุตสาหกรรมอย่างรองเท้าสนีกเกอร์ รวมไปถึงเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ล้วนก็ได้รับอานิสงค์จากอิสระในครั้งนี้ไปแบบเต็ม ๆ โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าประเภท Outdoor รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นที่อยู่นอกกระแสก็ได้รับผลพลอยได้ไปกับเขาด้วย เหตุผลนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ เริ่มเบื่อกับความซ้ำซากและจำเจ ถ้ามองในมุมของรองเท้า นับได้ว่ามีหลายแบรนด์มาก ๆ ที่แจ้งเกิดหลังจากช่วงโควิดผ่านพ้นไป อาทิ Hoka, Crocs, Keen, New Balance รวมไปถึง SALOMON

 

ถ้าถามเหตุผลของเรานะ ส่วนตัวเราว่าการที่ SALOMON ตกคนได้มากขนาดนี้ น่าจะมาจากกลุ่มคนประเภทที่ชอบเปิดใจให้กับอะไรใหม่ ๆ ชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ หรือที่เรียกว่า Tastemaker ทำให้อะไรที่ไม่คิดว่าจะอยู่ในความสนใจ ก็สามารถดึงดูดทำให้พวกเขาสนใจขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ แบรนด์แถวหน้าที่น่าจับตาในปี 2023 อย่าง SALOMON นี่เอง

 

"What fascinates me,

is what I will do TOMORROW."

อะไรที่ทำให้ฉันตื่นเต้นกับมันมากที่สุด

ก็สิ่งที่ฉันจะทำมันในวันพรุ่งนี้ยังไงล่ะ !

                                - Georges Salomon

 


 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ที่นี่

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mailchimp, salomon, mastershoe, highnoblety, complex และ ssense

  • avatar writer
    โดย imnat
    เสพติดการอ่าน & ดูหนัง ตอนนี้อยู่ในระหว่างการทำตามความฝันให้สำเร็จ :)
แสดงความคิดเห็น